เหตุผลความจำเป็นของโครงการ

กรมทางหลวงได้จัดทำแผนพัฒนาทางหลวง โดยกำหนดตามทิศทางของการพัฒนาระบบคมนาคมและขนส่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่ละฉบับมาตามลำดับ งานที่ดำเนินการจะครอบคลุมถึงโครงการใหม่ซึ่งเป็นงบลงทุนก่อสร้างและบูรณะทางหลวงทั่วประเทศ อาทิ งานก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง งานก่อสร้างเพิ่มมาตรฐานทางหลวงให้เป็น 4 ช่องจราจรหรือมากกว่า งานบูรณะและปรับปรุงทางลาดยางเดิม งานก่อสร้างเป็นทางลาดยางมาตรฐาน งานก่อสร้างทางแนวใหม่ งานก่อสร้างทางแยกต่างระดับและสะพานลอย ตลอดจนงานอำนวยความปลอดภัย เป็นภารกิจหลักที่กรมทางหลวงมุ่งที่จะพัฒนาให้สมบูรณ์

       ที่ตั้งโครงการสำรวจ และออกแบบจุดตัดทางหลวงหมายเลข 42 กับทางหลวงหมายเลข 43 ตั้งอยู่ อ.หนองจิก จังหวัดปัตตานี และอยู่บนแนวเส้นทางหลักการขนส่งสินค้าของสามจังหวัดภาคใต้ (จ.ปัตตานี จ.ยะลา - จ.นราธิวาส) ซึ่งปัจจุบัน เป็นทางแยกสัญญาไฟจราจร มีจราจรหนาแน่น และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

       ในปี2559 คณะรัฐมนตรีได้มีแนวทาง และลงมติเห็นชอบโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช)ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชาดแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)และหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลาง และในพื้นที่ ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ที่มีความปลอดภัยให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ และขยายผลการพัฒนาสู่พื้นที่อื่นๆ และได้กำหนดพื้นที่นำร่องใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นพื้นที่ต้นแบบในการขับเคลื่อนงานการพัฒนาให้เกิดผล

       ในปี 2562 กระทรวงคมนาคม และกรมทางหลวง ได้ให้การสนับสนุน และขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ ดังกล่าว เพื่อเป็นการยกระดับการพัฒนาเชิงพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง และเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อน การพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระบบครบวงจรของภาคใต้ตอนล่าง ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังพื้นที่จังหวัดชาดแดนภาคใต้ และภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน

       ดังนั้น กรมทางหลวงได้มีแผน และจัดตั้งโครงการสำรวจ และออกแบบทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 42 กับทางหลวงหมายเลข 43 เพื่อจะช่วยบรรเทาปัญหาบริเวณทางแยกดังกล่าว และการขยายผลของโครงการเมืองต้นแบบ โดยโครงการจะมีการสำรวจและวิเคราะห์ทางวิศวกรรม อย่างละเอียด ซึ่งจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อนำข้อคิดเห็นมาประกอบ ในการพิจารณาออกแบบโครงการได้อย่างเหมาะสม


logo